ประวัติความเป็นมา

             ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ได้เริ่มขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 โดยความร่วมมือของกลุ่มบรรณารักษ์จากห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จำนวน 11 แห่ง ได้นัดหมายมาประชุมปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาหารูปแบบของความร่วมมือที่เหมาะสมที่ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทุกแห่งจะร่วมมือกันได้ โยมีนายบุญสิริ สุวรรณเพ็ชร์ หัวหน้าบรรณารักษ์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานจัดการประชุม และมี รศ.ดร.นวนิตย์ อินทรามะ เป็นที่ปรึกษา ที่ประชุมได้คัดเลือกคณะกรรมการดำเนินงานความร่วมมือเป็นชุดแรกจำนวน 6 คน และได้จัดตั้งเป็น “ชมรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ชสอ. หรือ PHEL Group)” มีนายบุญสิริ สุวรรณเพ็ชร์ เป็นประธานชมรม โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการ คือ
            1. เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
            2. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
            3. เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรห้องสมุดร่วมกันระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
            4. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์
            5. เพื่อส่งเสริมการค้นคว้า วิจัย ตลอดจนการเขียนบทความทางวิชาการในทางบรรณารักษศาสตร์

            ชมรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ชสอ.) ได้จัดทำงานความร่วมมือ ดังนี้
            1. จัดทำนามานุกรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
            2. จัดทำวารสารชื่อ "ชสอ.สาร" กำหนดออกเป็นรายสะดวก

            ในปี พ.ศ. 2530 ชมรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น “คณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพห.)” อยู่ภายใต้การให้คำแนะนำของคณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนา ในสังกัดสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ คือ
            1. เน้นความร่วมมือ
            2. ส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพบรรณารักษ์
            3. พิจารณาแนวทางพัฒนาหลักเกณฑ์
            4. ให้คำปรึกษาแก่สมาชิก

           หน้าที่ของคณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพห.) มีดังนี้
            1. กำหนดนโยบายและประสานงานให้บรรลุวัตถุประสงค์
            2. มอบหมายงานให้ผู้เกี่ยวข้อง
            3. แต่งตั้งกลุ่ม
            4. ร่วมมือกันแก้ปัญหา
            5. ประสานงานเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างแท้จริง

           กิจกรรมที่ คณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพห.) ควรจัดทำ คือ
            1. กำหนดนโยบาย โครงสร้างให้เป็นลายลักษณ์อักษร
            2. อนาคตของห้องสมุดควรจะพัฒนาไปในทิศทางของศูนย์สารนิเทศแห่งชาติ
            3. บริการยืมคืนระหว่างห้องสมุดควรมีการขยายกว้างขึ้น
            4. การนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้
            5. อุปกรณ์การสื่อสาร
            6. ฐานข้อมูลสำเร็จรูป
            7. มีกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้น
            8. ควรมีการประเมินผลของกิจกรรมที่ผ่านมา
            9. ควรมีการวางแผนระยะสั้น-ระยะยาว
           10. เผยแพร่ข่าวสารเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
           11. ควรมีการประชาสัมพันธ์

           นับตั้งแต่ได้ร่วมมือกันปฏิบัติงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2546 ได้ดำเนินการร่วมมือแบ่งกลุ่มพร้อมกับความร่วมมือของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
            1. กลุ่มงานเทคนิค
            2. กลุ่มงานบริการ
            3. กลุ่มงานโสตทัศนบริการ
            4. กลุ่มงานวารสาร
            5. กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ   

            และจากมติที่ประชุมคณะกรรมการฝ่ายพัฒนา สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ครั้งที่ 6/2543 วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2543 ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีมติให้เปลี่ยนชื่อย่อ จาก "อพห." เป็น "อพส." โดยอพส. คือ กลไกการรวมพลัง ความสามัคคีระหว่างห้องสมุด ศูนย์สารสนเทศ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพงานบริการทางด้านวิชาการ มีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้
            1. ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาทรัยากรการเรียนรู้และบริการสารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด
            2. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและการบริการทางวิชาการของห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ
            3. ส่งเสริมการค้นคว้าและวิจัยเพื่อผลิตผลงานในสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
            4. เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการประสบการณ์ของบุคลากรในวิชาชีพ    

            ภารกิจ สร้างข้อตกลงในความร่วมมือ ด้านการจัดหา การสนับสนุน และการใช้ทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับแต่ละสถาบัน ด้วยความประหยัด และยุติธรรม

            ต่อมาได้มีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายพัฒนา สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ครั้งที่ 4/2546 วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ณ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ มีมติให้เปลี่ยนชื่อ “คณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” เป็น “คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” และเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

            วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ครั้งที่ 10/1/2548 ณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ประชุมมีมติให้รวมกลุ่มงานต่างๆ ที่มีอยู่เดิม 5 กลุ่มนั้นให้เหลือเพียง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มงานเทคนิค กลุ่มงานบริการผู้ใช้ และกลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ

            วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ชุดที่ 12 ครั้งที่ 12/1/1/2552 ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ที่ประชุมมีมติให้มีการแบ่งกลุ่มงานใหม่ เป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มงานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มงานบริการสารสนเทศ และกลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ

            วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561 ในการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ชุดที่ 16 ครั้งที่ 16/1/2561 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ประชุมมีมติให้รวมกลุ่มงานจาก 4 กลุ่ม เป็น 2 กลุ่มงาน โดยรวมกลุ่มงานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศกับกลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศเข้าด้วยกัน และรวมกลุ่มงานบริการทรัพยากรสารสนเทศกับกลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งชื่อ 2 กลุ่มงานใหม่คือ กลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ กับกลุ่มงานบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
 

รายนามประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.)

            นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528 ถึงปัจจุบันคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) มีประธานในการดำเนินการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งสรรหาและเลือกตั้งจากผู้บริหารห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการฯ ดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี ดังนี้

                  0. อาจารย์บุญสิริ สุวรรณเพ็ชร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พ.ศ. 2528-2530 ชสอ.
  1. อาจารย์วรางคณา อินทรพินทุวัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พ.ศ. 2530-2532 อพห.
  2. อาจารย์วิรัติ นิธิกุล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พ.ศ. 2532-2534 อพห.
  3. รศ.ดร.นวนิตย์ อินทรามะ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พ.ศ. 2534-2536 อพห.
  4. ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พ.ศ. 2536-2538 อพห.
  5. อาจารย์ทรงสรรค์ อุดมศิลป์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2538-2540 อพห.
  6. ดร.อุทัย ทุติยะโพธิ มหาวิทยาลัยรังสิต พ.ศ. 2540-2542 อพห.
  7. อาจารย์สรัญญา รุจิเรขเรืองรอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร พ.ศ. 2542-2544 อพส.
  8. อาจารย์สุธน สุภาวงศ์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต พ.ศ. 2544-2546 อพส.
  9. อาจารย์สุวคนธ์ ศิริวงศ์วรวัฒน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พ.ศ. 2546-2548 อพส.
  10. ดร.สุพัตรา สินชัยสุข มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พ.ศ. 2548-2550 อพส.
  11. ดร.มลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ มหาวิทยาลัยรังสิต พ.ศ. 2550-2552 อพส.
  12. ดร.ชนันนา รอดสุทธิ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พ.ศ. 2552-2554 อพส.
  13. อาจารย์สุวคนธ์ ศิริวงศ์วรวัฒน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พ.ศ. 2554-2556 อพส.
  14. ดร.มลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ มหาวิทยาลัยรังสิต พ.ศ. 2556-2558 อพส.
  15. ดร.จอมขวัญ ผลภาษี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พ.ศ. 2558-2560 อพส.
  16. ดร.จอมขวัญ ผลภาษี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พ.ศ. 2560-2562 อพส.
  17. อาจารย์ภคพร อำมาตย์มณี ชุ่มอินทรจักร์  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พ.ศ. 2562-2564 อพส.
  18. ดร.อภิรดี อำนรรฆมณี มหาวิทยาลัยศรีปทุม พ.ศ. 2564-2566 อพส.